top of page

“เปลี่ยนโซเชียล แปลงสังคม”คลี่ชั้นความรุนแรงทับซ้อน สะท้อนพลังคนรุ่นใหม่


10 สิงหาคม 2566 – กรุงเทพฯ: เทศกาลไพรด์ช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาของการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศที่เข้มข้นมากกว่าทุกๆปี โดยเฉพาะในเมืองไทยที่เห็นภาพการเคลื่อนไหวและร่วมมือกันอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งจากฝั่งการเมือง ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ เช่นการร่วมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้บังคับใช้ก่อนไทยประชันแข่งเป็นเจ้าภาพจัดเวิลด์ไพรด์ 2028 การเดินขบวนพาเหรดสีรุ้งตามเมืองใหญ่สำคัญทั่วประเทศ การออกนโยบายเพื่อความหลากหลายเท่าเทียมในองค์กรธุรกิจ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียสร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนและแสดงออกถึงจุดยืนด้านสิทธิความเท่าเทียมของคนทุกเพศในสังคม อย่างไรก็ดีผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายในรูปแบบความรุนแรงทั้งทางตรง ทางวัฒนธรรม และทางโครงสร้าง ผ่านความทับซ้อนของอัตลักษณ์และลักษณะต่างๆในรูปแบบและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และมักถูกมองจากฐานที่ว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นหน่วยรวมหน่วยเดียวกัน มีประสบการณ์และพบเจอบริบทปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้ขาดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ลึกซึ้งและรอบด้านต่อสถานการณ์และบริบทเฉพาะของแต่ละกลุ่มที่เผชิญอยู่ นโยบายหรือทางแก้ปัญหาในหลายๆครั้งจึงขาดความเชื่อมโยง ละเลยแนวคิดสภาวะทับซ้อน (intersectionality) และมองข้ามประสบการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนข้ามเพศ


ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนโดยสถานทูตสหรัฐอเมริกา จึงจัดเวทีเสวนา “เปลี่ยนโซเชียล แปลงสังคม” (TRANSforming social media to social movement) เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงที่ทับซ้อนและการขับเคลื่อนประเด็นสังคมต่างๆด้วยพลังโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะด้านความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ มีผู้นำคนรุ่นใหม่จากหลายองค์กรกว่า 30 รายเข้าร่วมทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมดังกล่าว


ความรุนแรง: ตัวเร่งการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement)

ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ ผู้ก่อตั้ง ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป บรรยายเรื่องความรุนแรงรูปแบบต่างๆ


จากรายงานของ SDG Move วิเคราะห์สถานการณ์การเผชิญความรุนแรงของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ผ่านมา โดยสามารถแบ่งเป็นความรุนแรง 1) ทางตรง เช่นการทำร้ายร่างกายและกลั่นแกล้งบุลลี่ให้ได้รับความอับอาย 2) ทางวัฒนธรรม เช่นค่านิยมการเหยียดเพศ การตีตราและอคติผ่านแบบเรียนและสื่อ เป็นต้น และ 3) ทางโครงสร้างเช่น การถูกเลือกปฏิบัติและอคติจากความอยุติธรรมทางสังคมและกลไกเชิงโครงสร้างหรือระบบต่างๆที่สร้างความเหลื่อมล้ำจากกฎหมาย นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เช่นห้องน้ำที่มีแนวคิดการแบ่งแยกชายหญิงมากกว่าการออกแบบบนพื้นฐานของความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง


งานวิจัยระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค ในปี 2561 เผยว่า กลุ่มนักเรียน LGBTQ+ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตกเป็นเป้าของความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา 47.67% แกล้งทางเพศ 8.46% แกล้งทางไซเบอร์ 5.16% และถูกกลั่นแกล้งทุกประเภท 87.42% ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย

นอกจากนี้ รายงานการสำรวจของธนาคารโลกในปี 2561 ยังเผยอีกว่าในประเทศไทยมีคนข้ามเพศมากถึง 77% เลสเบี้ยน 62.5% และ เกย์ 49% ที่ยังคงเผชิญกับการถูกปฏิเสธการจ้างงาน การเลือกปฏิบัติ และการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน รวมถึงการปฏิเสธการส่งเสริมบทบาทผู้นำโดยเฉพาะกับคนข้ามเพศ ที่สังคมมักจะเหมารวมว่าเป็นบุคคลที่ “ไม่มีความสามารถ/ไม่น่าเชื่อถือ/ไม่เป็นมืออาชีพ” ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้จำกัดให้กลุ่มคนข้ามเพศต้องทำงานอยู่แต่ในอุตสาหกรรมด้านความงาม สื่อและวงการบันเทิง รวมถึงงานบริการทางเพศ คนข้ามเพศเป็นกลุ่มที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุดในบรรดากลุ่ม LGBTQ+ จากการถูกกีดกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกรูปแบบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความรุนแรงทั้งสามแบบเป็นตัวเร่งการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน


คนข้ามเพศ: หมุดหมายของสังคมแห่งความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง


“ในการสร้างสังคมหรือองค์กรแห่งความหลากหลายที่แท้จริงและเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนด้านทรัพยากรคนนั้น ผู้นำต้องเข้าใจแก่นของปัญหาความรุนแรงและบริบทที่ทับซ้อนอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยงกันในทุกมิติของกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง เช่น เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่แค่เรื่องของหญิงเท่ากับชาย แต่ต้องรวมกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย และต้องศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อคนกลุ่มนี้ให้ลึกกว่าเดิมโดยเฉพาะอคติ การเลือกปฎิบัติและความรุนแรงในทุกมิติ ทั้งควรคำนึงถึงแนวคิด Inclusion from the margin เน้นการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างพลังให้คนที่ถูกเลือกปฎิบัติมากที่สุดในกลุ่ม LGBTQ+ นั่นคือ คนข้ามเพศ (Transgender) อันเป็นการสร้างความเสมอภาค (equity) ที่ถูกต้อง” ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ ผู้ก่อตั้ง ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความเป็นมิตรต่อ LGBTQ+ แห่งแรกของประเทศไทยกล่าว “นี่ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิพิเศษ แต่เป็นการสนับสนุนอย่างเสมอภาคให้เกิดความเท่าเทียมกับกลุ่มคนชายขอบ เพื่อลดอุปสรรคของระบบ ขณะเดียวกันก็ช่วยปลดล็อกศักยภาพของคนข้ามเพศที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและองค์กรต่อไป”


โซเชียลมีเดีย: เปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม

งานเสวนา “เปลี่ยนโซเชียล แปลงสังคม”


บทสรุป 4 แนวทางการใช้โชเชียลมีเดียสร้างแคมเปญขับเคลื่อนสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศ


1. รู้จักและเข้าใจแก่นของสิ่งที่อยากขับเคลื่อน

เวลาทำแคมเปญขับเคลื่อนสังคม พึงระลึกไว้เสมอว่าเรากำลังทำเรื่องของคนภายในชุมชน ประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นยอด การศึกษาค้นคว้าจากคนในชุมชนและเข้าใจแก่นของปัญหาอย่างถูกต้อง (Accuracy) จะทำให้เรารู้ลึกและรู้รอบในเรื่องนั้นๆ เพื่อสร้างทัศนคติ (Attitude) ให้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชนเข้าใจประเด็นทับซ้อนอย่างแท้จริงและถูกต้องเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์มากที่สุด อย่างการสร้าง GendersMatter สื่อที่มองเรื่องเพศนอกตำรา (ที่ไม่ได้มีแค่จู๋กับจิ๋ม) ให้หลากหลาย เพื่อให้ความรู้และขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกัน” ปณต ศรีนวล บรรณาธิการบริหาร ประจำสื่อ GendersMatter Media Agency ติ๊กต๊อกเกอร์ Tewtuen (ติวเถื่อน) มีผู้ติดตามกว่า 250,000 ราย


2. รู้ว่าคุณกำลังต่อสู้เพื่ออะไร

“สังคมตีกรอบสิทธิ หน้าที่ รวมถึงวิธีคิดของคนข้ามเพศให้อยู่ในกล่องเดิมๆมาอย่างยาวนาน เรากำลังต่อสู้กับอคติ การตีตราและมาตรวัดสังคมแบบเดิม ทั้งการมีตัวตน ความงาม โอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ เป้าหมายของเราคือการสร้างต้นแบบคนข้ามเพศที่เติบโตได้ในสายอาชีพที่หลากหลายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนข้ามเพศรุ่นหลังต่อไป จึงได้เข้าไปร่วมทำงานกับ Trans for Career Thailand เพจให้คำแนะนำบุคคลข้ามเพศในเรื่องการทำงาน อาชีพและเล่าเรื่องราวคนข้ามเพศมืออาชีพเก่งๆหลายคน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายและความเสมอภาคในที่ทำงาน เป็นต้น เจสสิลินน์ นาคประสิทธิ์ อีเมลล์มาเก็ตเตอร์ ผู้ประสานงานเพจ Trans for Career Thailand และมิสทรานส์อินเตอร์เนชั่นแนลไทยแลนด์ 2021


3. รู้ว่าจะใช้กลยุทธ์แบบไหนและเครื่องมืออะไร

การรู้จักจุดแข็งของตัวเอง มีจุดยืน มองเห็นโอกาสในทุกๆปัญหา และเข้าใจกระแส คือกลยุทธ์ที่ใช้สร้างโมเดลเอเจนซี่และแอฟเดทสำหรับคนข้ามเพศและ LGBTQ+ แห่งแรกของนิวยอร์ค โดยการใช้โชเชียลมีเดียและแอพสร้างแบรนด์และเสนอบริการโมเดลที่หลากหลายตอบโจทย์แบรนด์ในช่วงเวลาที่กระแสความหลากหลายกำลังมาแรง นอกจากจะช่วยสร้างงานแล้วยังช่วยเพิ่มพื้นที่ให้กับกลุ่มที่ถูกกดทับมานานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและความงาม นอกจากนี้แอพเดทติ้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่ออาชญากรรมที่เกิดจากการเกลียดกลัวคนข้ามเพศได้อีกด้วย” สุภัทร ภาษี ผู้ก่อตั้งเอเจนซี่ทรานโมเดล Transmodel NYC สำหรับคนข้ามเพศแห่งแรกของนิวยอร์ค ผู้ร่วมก่อตั้ง Teadate เดทติ้งแอ๊พพลิเคชั่นสำหรับคนข้ามเพศ มีผู้ใช้กว่า 18,000 ราย


4. ทำทันที

Just do it ลองทำเลย ถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ เพราะทุกก้าวที่เราทำมันจะทดสอบและวัดผลได้ทันทีว่าสิ่งที่ทำนั้นใช่ทางของเราจริงๆหรือเปล่า ทั้งตอนเริ่มทำเพจ Not too late to be equal ก็เป็นเพจแรกที่พูดเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศในการรับฮอร์โมนจนไปถึงการรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนการแต่งกายตามคำนำหน้าเพศได้ หรือการทำติ๊กต๊อกช่องซาร่าอาสารีแคปก็เกิดมาจากความหลงใหลในการดูนางงาม แต่ก็ยังส่งสารสร้างความเท่าเทียม ท้าชนมาตรฐานกรอบความงามแบบเดิม เพื่อยกระดับเวทีนางงามโดยใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลาย จากจุดเล็กๆในวันนั้นจนกลายมาเป็นเสียงที่ดังขึ้นได้ในวันนี้ จากความสำเร็จของก้าวเล็กๆก็จะสามารถสร้างอิมแพ็คไปจนต่อกันเป็นภาพใหญ่ได้ในสักวัน ธนพงษ์ วรรณโคตร ผู้ก่อตั้งเพจ Not too late to be equal ติ๊กต๊อกเกอร์ Sarahchh_ มีผู้ติดตามกว่า 75,000 ราย

-จบ-


ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม

คุณณัฐินีฐิติ (นิกกิ) ภิญญาปิญชาน์

ผู้ก่อตั้ง

ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป

โทร: +66652953699

อีเมล: Transtalents.th@gmail.com

เว็บไซต์: www.transtalentsth.com


เกี่ยวกับ ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป

ทรานส์ทาเลนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนอนาคตของสถานที่ทำงานให้มีความเป็นมิตรพร้อมพัฒนาศักยภาพของ LGBTQ+ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น เราให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับ DE&I และการเพิ่มขีดศักยภาพของ LGBTQ+ ตลอดจนให้การฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ทันสมัย การทำงานร่วมกันที่มุ่งสร้างแรงกระเพื่อม รวมถึงสนับสนุนความเป็นผู้นำมืออาชีพของคนข้ามเพศเพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินการอย่างถูกต้องในการพัฒนาแรงงานอย่างยั่งยืน ในปัจจุบัน เราร่วมมือกับองค์กรมากกว่า 20 องค์กร และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 1.5 ล้านคน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา: www.transtalentsth.com

Comments


3.png

About

Who is Nikki?

Nikki in Action

Consult

Consult

Training

Connect

News

Resources

Media

  • Facebook
  • LinkedIn

Packages

Communicate

Packages

© 2022 TransTalents DE&I Consulting Academy.

bottom of page